หัวปลี (Banana Blossom) ของดีมีประโยชน์

หัวปลีคือส่วนช่อดอกของต้นกล้วย อันประกอบด้วยดอกจริงที่จะถูกหุ้มอยู่ภายในด้วยใบประดับสีแดงขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นกาบซ้อนกันจนสุดปลายช่อ คล้ายดอกบัวตูม เมื่อดอกเพศเมียเจริญเป็นผลโดยที่ไม่ต้องได้รับการผสมเกสร จนเป็นกล้วยหวีเล็ก ๆ หรือที่เรียกกันว่า “กล้วยตีนเต่า” ชาวสวนก็จะตัดปลีที่ปลายช่อทิ้ง เพื่อไม่ให้แย่งอาหารที่จะไปเลี้ยงผลกล้วย ทั้งยังเป็นการป้องกันการสะสมเชื้อโรคของเครือกล้วยด้วยหัว-ปลีปลีกล้วยที่ตัดไปก็ไม่ได้ทิ้งเปล่า เพราะเนื้อขาวนวล กรุบกรอบรสฝาดมันของหัวปลีสด เข้ากันได้ดีกับอาหารจานเด็ดอย่างผัดไทยหรือขนมจีนน้ำยา ส่วนหัวปลีลวก เนื้อหวานมันปนฝาด เคี้ยวนุ่มชุ่มฉ่ำ นิยมกินเป็นผักเหนาะจิ้มน้ำพริก นอกจากนี้ยังดัดแปลงไปทำยำ แกง ต้มกะทิ ต้มยำ ห่อหมก ทอดมันหัวปลี หรือชุบแป้งทอดให้รสชาติอร่อยเปี่ยมคุณค่าไม่แพ้ผักชนิดอื่น แถมยังมีข้อดีกว่าตรงที่เป็นผักปลอดสารพิษ เพราะกล้วยเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ในการปลูกยำ-หัวปลี

คุณค่าที่ร่างกายจะได้รับจากการกินหัวปลี 100 กรัม ก็เช่น เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม แคลเซียม 28 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม และวิตามินซี 25 มิลลิกรัม สรรพคุณทางยาของหัวปลีที่คนโบราณว่าไว้ก็คือ บำรุงน้ำนมของแม่ลูกอ่อนที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร รักษาโรคกระเพราะ และแก้ร้อนใน ยางจากปลีกล้วยก็ใช้รักษาแผลสดหรือทาบริเวณที่แมลงกัดต่อยได้ นอกจากนี้ นักวิจัยชาวอินเดียยังพบว่า หัวปลีมีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

หัวปลีที่ว่ากันว่าอร่อยที่สุด คือหัวปลีของกล้วยป่า แต่หาได้ยาก รองลงมาคือหัวปลีของกล้วยที่ยังไม่ตกเครือ โดยเนื้อแน่นและกรอบหวานกว่าหัวปลีของกล้วยที่ตกเครือไปแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะยอมเสียกล้วยทั้งเครือเพื่อแลกกับหัวปลี โดยทั่วไปนิยมกินกันมากก็คือหัวปลีของกล้วยน้ำว้า เพราะรสฝาดน้อยและหาได้ง่าย

วิธีการเตรียมหัวปลีก่อนนำไปปรุงอาหาร คือให้ลอกกาบสีแดงข้างนอกออก จนถึงกาบสีขาวนวล ผ่านครึ่งตามยาว นำไปแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูเจือจาง เพื่อไม่ให้หัวปลีสีคล้ำจนไม่น่ากิน จากนั้นเฉือนแกนกลางทิ้งและดึงดอกที่แก่ออก เท่านี้ก็นำไปปรุงเป็นอาหารจานเด็ดได้แล้ว