เปิดชีวิตแม่ทัพอิตาเลียนไทย “เปรมชัย กรรณสูต” กับเหตุ “ทุ่งใหญ่สะเทือน”

เหตุการณ์ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อ “เปรมชัย กรรณสูต” ประธานบริหารและกรรมการ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถูกควบคุมตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งคณะของนายเปรมชัย และบุคคลอีก 4 คน มาตั้งแคมป์พักในบริเวณจุดห้ามตั้ง

โดยการตรวจค้นพบซากสัตว์ป่าคุ้มครอง คือ ซากเสือดำที่ถูกชำแหละ และไก่ฟ้าหลังเทา นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบอาวุธปืนไรเฟิลติดลำกล้อง และเครื่องกระสุนจำนวนมาก

โดยมีการกล่าวโทษเบื้องต้น 6 ข้อหา

1. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

2. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 16 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

3. ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

4. ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามข้อ 1 (1) ของกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

5. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

6. สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษตามฐานความผิดต่อไป

กลายเป็นประเด็นฮือฮาทันทีที่ผู้บริหารบริษัทธุรกิจก่อสร้างรายดังอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ และชื่อชั้นก็เป็นถึงระดับ “บิ๊กเนม” ของอิตาเลียนไทย บริษัทที่มีตำนานมาหลายทศวรรษ

จากบริษัทสองสัญชาติร่วมกันบริหารในจุดเริ่มต้นระหว่าง นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต และชาวอิตาลี Giorgio Berlingieri ที่สานสัมพันธ์แนบแน่นจากธุรกิจกู้เรือเดินทะเล และก่อตั้งบริษัท อิตัลไทย อินดัสเตรียล จำกัด ในปี 2498 ร่วมกันถือหุ้นคนละ 50 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งต่อมาแตกยอดธุรกิจมาเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานทุกประเภท ในชื่อ บริษัท อิตาเล่ียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในปี 2501 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งปี 2518 ที่ Berlingieri เสียชีวิตลง ต่อมาหุ้นจึงอยู่ในครอบครองของกรรณสูตทั้งหมด

น.พ.ชัยยุทธ มีบุตรธิดารวมกัน 5 คน โดยหลังจากการเสียชีวิตของ เอกชัย กรรณสูต ทายาทคนโต ส่งผลมาถึงยุคต่อมาที่ “เปรมชัย กรรณสูต” ลูกชายคนเล็กเข้าทำงานที่อิตาเลียนไทยในปี 2522 และเป็นผู้ดูแลอาณาจักรอิตาเลียนไทย

ตำนานธุรกิจของอิตาเลียนไทย ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ขยายธุรกิจไปสู่ส่วนอื่นๆมากมาย และโด่งดังในฐานะเจ้าของสัมปทานโครงการขนาดใหญ่

เหตุการณ์ทุ่งใหญ่ ที่มีชื่อของนายเปรมชัย เข้ามาเกี่ยวข้องย่อมสั่นสะเทือนอาณาจักรหมื่นล้านแห่งนี้ ทั้งจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงตามมาสนั่นโลกออนไลน์ในเชิงภาพลักษณ์ กรณีอิตาเลียนไทยเป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างอุโมงค์-ทางข้ามให้สัตว์ป่าทับลาน ระหว่างทางหลวง 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัยด้วยแล้ว

และในทางธุรกิจเมื่อเปิดตลาดหุ้นซื้อขายเมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ราคาหุ้นอิตาเลียนไทย หรือ ITD ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 โดย ณ เวลา 11.00 น. อยู่ที่ 3.72 บาท ลดลง 0.14 จุด หรือลดลง 3.63% จากราคาวันก่อนหน้าที่ 3.86 บาท

ทั้งนี้ ตำนานและประวัติอิตาเลียนไทยนั้นมีอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ไปจนถึงยุคความอยู่รอด และการปรับตัวของกลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์ผันแปรกับสังคมไทยในช่วงกึ่งศตวรรษอย่างน่าสนใจ จนเรียกว่ากรณีศึกษาของบริษัทอิตาเลียนไทย เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับธุรกิจที่มีลักษณะอ่อนไหวเป็นพิเศษ (ผู้สนใจ สามารถติดตามอ่านโดยละเอียด จากงานเขียนโดย วิรัตน์ แสงทองคำ ตีพิมพ์ 3 ตอน ในนิตยสารมติชนรายสัปดาห์ได้)

สำหรับ “เปรมชัย กรรณสูต” ปัจจุบัน อายุ 63 ปี เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2497 เป็นบุตรชาย นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มบริษัทอิตัลไทย และ ม.ร.ว.พรรณจิต (สกุลเดิม วรวรรณ) มีพี่น้องด้วยกัน 5 คน

จบการศึกษาคณะวิศวกรรมเหมืองแร่ จากรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนีย

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และถือเป็นทายาทสืบต่อธุรกิจที่เป็นหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญในการนำทัพอิตาเลียนไทย ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วนมากสุดที่ 14.88 %

“เปรมชัย กรรณสูต” กล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า ปี 2560 อิตาเลียนไทยได้งานใหม่ในมือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (รวมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 35,000 ล้านบาท) มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8 หมื่นล้านบาท นับว่าสูงสุดในประวัติการณ์

ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานในประเทศและต่างประเทศสัดส่วน 50:50 จะสามารถรับรู้รายได้ 4 ปี เฉลี่ยปีละ 125,000 ล้านบาท โดยปี 2560 ที่ผ่านมารับรู้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปี 2561 จะถึง 1 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เปิดประมูลออกมามากกว่าปี 2560 ถึงเท่าตัวกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่บริษัทประเมินไว้จะเข้าร่วมมีหลายโครงการซึ่งล้วนเป็นงานที่ถนัด

ไม่ว่ารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 9 โครงการ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท รถไฟไทย-จีน รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะและสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังมีงานอื่น ๆ อีก เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โดยคาดว่าบริษัทจะได้งานในมืออย่างน้อย 3 แสนล้านบาท

สำหรับงานในต่างประเทศ “เปรมชัย” ขยายความว่า ที่ได้แล้วมี 2 โครงการคือ ทางด่วนยกระดับ 5 หมื่นล้านบาท ความคืบหน้าก่อสร้าง 8% กับรถไฟฟ้ายกระดับ 3 หมื่นล้านบาท ที่เมืองดักการ์ ประเทศบังกลาเทศ

ขณะเดียวกันยังร่วมประมูล สนามบิน อีก 3 หมื่นล้านบาท และมอเตอร์เวย์อีก 1 แสนล้านบาทที่บังกลาเทศ รวมทั้งรถไฟใต้ดิน 3 หมื่นล้านบาท โรงบำบัดน้ำเสีย และจะร่วมประมูลสนามบินที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ในไตรมาสแรกปี 2561

ด้าน “โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” เมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลเมียนมา เป็นอีกโปรเจ็กต์ที่ “บิ๊กอิตาเลียนไทย” เกาะติดแบบใจหายใจคว่ำ หลังหยุดชะลักมานานหลายเดือนหลังมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

“โครงการทวาย เราก็ติดตามประชุมร่วมกับพม่าทุกเดือน ซึ่งโครงการกลับมาเริ่มใหม่หลังเปลี่ยนรัฐบาล ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา”

เป็นภารกิจเมกะโปรเจ็กต์ของอิตาเลียนไทย ท่ามกลางเหตุแห่งทุ่งใหญ่สะเทือน!!

อยากรู้ประวัติ “เปรมชัย กรรณสูต”

ประวัติของ เปรมชัย กรรณสูต

เปรมชัย กรรณสูต เกิดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2497 เป็นบุตรชาย นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต และ ม.ร.ว.พรรณจิต (สกุลเดิม วรวรรณ) มีพี่น้องด้วยกัน 5 คน โดยนายเปรมชัยเป็นลูกชายคนสุดท้อง เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นเรียนต่อด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ จากรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนียน.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต พ่อของ เปรมชัย เป็นผู้ก่อตั้งอิตาเลียนไทยร่วมกับ จิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี หุ้นส่วนคนสำคัญในยุคจอมพลสฤษดิ์เมื่อปี 2501 เดิมตั้งใจทายาทคนโตคือ นายเอกชัย สืบทอดตำแหน่งต่อ แต่กลับเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในวัย 32 ปี หลังจากนั้นในปี 2522 เปรมชัย ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 30 ปีจึงเข้าบริหารธุรกิจต่อจากพ่อ พร้อมกับพาพาอิตาเลียนไทย (ITD) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 จนถึงปัจจุที่เขาดำรงตำแหน่งประธานบริหารของอิตาเลียนไทย ถือหุ้นในสัดส่วนสูงสุดที่ 14.88%

จากกรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและ กรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน และคณะ ลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งยังพบซากสัตว์ป่าคุ้มครองถูกชำแหละถลกหนัง อาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนจำนวนมาก ทำให้ชื่อของ เปรมชัย กรรณสูตกลายเป็นชื่อที่ไดรับความสนใจว่า เขาคือใคร?

ปัจจุบัน อิตาเลียนไทย เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการก่อสร้าง มีโปรเจกต์ขนาดมหึมาทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก มีทรัพย์สินมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท มีรายได้ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2560 ที่ผ่านมามีกำไรประมาณ 246 ล้านบาท ซึ่งถือว่าดีกว่าปีก่อนที่ขาดทุนนับร้อยล้านบาท โดยในปี2560ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นปีที่ดีของอิตาเลียนไทย ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่มูลค่ารวม 1.3 แสนล้านบาท รวมไปถึงโรงไฟฟ้าแม่เมาะมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ปีที่ผ่านมาได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท และจะแตะ 1 แสนล้านบาทในปี 2561 นี้

ตำนานธุรกิจของอิตาเลียนไทยนั้นโด่งดังในฐานะเจ้าของสัมปทานโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในประเทศไทย โดยตัวอย่างโครงการของ อิตาเลียนไทย อาทิรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และ หัวหิน-ประจวบฯ) ,รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ,รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ,รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ,รถไฟไทย-จีน ,รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ,ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการบริหารจัดการน้ำ

นอกจากนี้ ในงานต่างประเทศ ยังมี อีก 2 โครงการคือ ทางด่วนยกระดับและรถไฟฟ้า ที่เมืองดักการ์ ประเทศบังกลาเทศ รวมไปถึงสนามบิน รถไฟใต้ดิน โรงบำบัดน้ำเสีย และจะร่วมประมูลสนามบินที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ในไตรมาสแรกปี 2561